สนิมขาวบนเหล็กชุบสังกะสี คืออะไร ป้องกันอย่างไร แก้ไขได้ไหม?
อยากใช้งานเหล็กชุบสังกะสี ได้ยาวนาน ต้องรู้วิธีป้องกันสนิมขาว
สนิมขาว (White Rust) คือ ชั้นสังกะสีออกไซด์ ZnO หรือ ชั้นสังกะสีไฮดรอกไซด์ Zn(OH)2 ที่เกิดอยู่บนชั้นสังกะสีของเหล็กที่ชุบแล้ว มีลักษณะเป็นฝ้าสีขาวหรือสีเทา เป็นปื้นหรือเป็นแถบ มีรูพรุน (Porous) และไม่เหนียวแน่น (Pervious) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อนำชิ้นงานที่ชุบแล้ว ไปวางไว้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง อากาศไหลเวียนไม่สะดวก
การทำเช่นนี้ไม่ได้มีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการผุกร่อน แต่อาจจะทำให้ชั้นสังกะสีที่ชุบบางลงบ้าง แต่ถ้าชั้นความหนาของสังกะสี “Effective Zinc Layer” ที่อยู่ข้างล่างสนิมขาว ยังคงมีความหนาเป็นไปตามข้อกำหนด (Specification) จะถือว่าชิ้นงานนั้นยังคงมีความต้านทานการผุกร่อนที่พอรับได้
โดยโอกาสที่สนิมขาวจะทำให้ชั้นสังกะสีของเหล็กชุบเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงนั้นมีน้อยมาก และถึงแม้แถบสนิมขาวจะดูมีปริมาตรค่อนข้างใหญ่ แต่ชั้นสังกะสีที่ถูกทำลายไป มักจะตื้นนิดเดียว ดังนั้นเมื่อขจัดสนิมขาวที่เกาะอยู่อย่างหลวม ๆ ออกไปแล้ว และนำชิ้นงานไปใช้งาน สนิมขาวที่เหลืออยู่จะจางหายไปเอง และสีของชั้นสังกะสีที่เกิดขึ้นมาใหม่จากการใช้งาน จะเหมือนกับชั้นสังกะสีที่อยู่โดยรอบดังเดิม
มีข้อพึงระวังในการใช้งานเหล็ก คือ ถ้าชิ้นงานที่มีสนิมขาวถูกนำไปใช้ในที่ ๆ ไม่สัมผัสกับบรรยากาศอย่างเต็มที่ เช่น สถานที่ที่มีความชื้นสูง และสถานที่ที่มีการควบแน่นของไอน้ำ กรณีนี้สนิมขาวจะต้องถูกขจัดออกให้หมดสิ้นก่อน มิฉะนั้นสนิมขาวจะเพิ่มขึ้นเป็นบริเวณกว้างอย่างความรวดเร็ว และทำลายชั้นสังกะสีอย่างรุนแรงในที่สุด
วิธีการป้องกันการเกิดสนิมขาวให้กับเหล็กชุบสังกะสี
- ห้ามวางชิ้นงานเหล็กชุบสังกะสีที่เพิ่งผ่านการชุบผิวมาใหม่ๆ ซ้อนกัน โดยควรจัดวาง/จัดเก็บในบริเวณที่มีการระบายอากาศได้ดี ขณะที่ผิวสังกะสียังเปียกอยู่ หากเป็นชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ จะทำให้การเย็นตัวค่อนข้างช้า จึงควรวางไว้ในที่ร่มประมาณ 24 ชั่วโมงก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่าผิวชั้นแรกของสังกะสีมีการก่อตัวเป็นฟิล์มป้องกันผิวดีแล้ว
- ขั้นตอนการขนส่งหรือขนย้ายชิ้นงานไปยังสถานที่ใช้งาน ต้องระวังอย่าให้มีน้ำขังบนผ้าใบเป็นเวลานาน ๆ และควรมีผ้าใบคลุมให้ดี
- หากต้องมีการวางชิ้นงานไว้กลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเอาใจใส่ในเรื่องการจัดวางในลักษณะให้นํ้าไหลออกไปจากชิ้นงานโดยสะดวกและแห้งเร็ว เช่น การวางในแนวตั้ง หรือเรียงชิ้นงาน
- หากมีการใช้พลาสติกในการห่อชิ้นงาน ให้แกะออกเพื่อป้องกันการเกิดไอน้ำเมื่อขนย้ายชิ้นงานไปยังจุดหมายแล้ว เพราะไอน้ำที่ก่อตัวอาจจะทำให้เกิดสนิมขาวในภายหลังได้
- การทำโครเมต (chromating) หรือ ฟอสเฟต (phosphating) หรือแม้กระทั่งการทาสี (painting) ภายหลังการชุบผิวแล้ว จะช่วยป้องกันสนิมขาวให้กับเหล็กได้ดีขึ้น
วิธีแก้ไขเมื่อเกิดสนิมขาว
- หากสังเกตเห็นสนิมขาวเกิดขึ้นไม่มากนักและไม่ลุกลาม สามารถใช้แปรงขนแข็งขัดออกไปได้เท่านี้ก็เพียพอ เพราะหลังจากนั้นฟิล์มซิงค์คาร์บอเนต (zinc carbonate film) จะก่อตัวขึ้นเพื่อป้องกันการกัดกร่อนได้เอง
- หากเกิดสนิมขาวในปริมาณมาก ให้ใช้แปรงขนแข็งขัดร่วมกับสารละลาย 5 % ของ โซเดียมหรือโปตัสเซียมไดโครเมต (sodium or potassium dichromate) และเพิ่มกรดซัลฟูริกที่มีความเข้มข้น 0.1 % โดยปริมาตร โดยให้ขัดแล้วปล่อยทิ้งไว้ 30 วินาที จากนั้นจึงค่อยนำไปล้างออกด้วยนํ้าสะอาดและทำให้แห้งสนิทอีกครั้ง
- กรณีที่สนิมขาวเกิดขึ้นมากจนดูรุนแรง หรือเกิดสนิมแดง (red rust) ร่วมด้วย แสดงว่ามีการจัดเก็บชิ้นงานเหล็กชุบสังกะสีไว้ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ให้ดำเนินการกำจัดทั้งสนิมขาวและสนิมแดงออกไปให้หมดในครั้วเดียว จากนั้นจึงซ่อมแซมผิวด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น zinc thermal spraying , zinc rich paint ฯลฯ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ติดต่อ แสงเจริญ กัลวาไนซ์กรุ๊ป
โทร : 02-599-4115, 092-279-2059 , 086-307-3851
LINE ID : @scggalvanize
Facebook : Sangchareongroup
Email : seggalvanized@gmail.com